ธุรกิจการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

เมื่อเร็ว ๆ นี้เราจะได้ยินคำว่า “นวัตกรรม” กันบ่อย ซึ่งมักจะมีความหมายในเชิงของเทคโนโลยี แต่จากงานวิจัยของผู้เขียนเองชื่อ“Revisiting The Notion of Innovation and Its Impact on Thailand’s Economic Policy: A Case Study of Japanese Manga” นวัตกรรมสามารถมีความหมายได้กว้างกว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีเท่านั้น เพราะนวัตกรรมหมายถึงการคิดค้นสิ่งใหม่ที่สร้างคุณค่าในเชิงธุรกิจหรือในเชิงเศรษฐกิจได้ 


          บทความทั้ง 5 จะพูดถึง “นวัตกรรมทางวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น” ที่คัดเลือกมาแล้วทั้งหมด 5 เรื่อง ซึ่งสร้างทั้งมูลค่าในเชิงธุรกิจ และมีคุณค่าในเชิงสังคมและวัฒนธรรมโดยในวันนี้จะพูดถึงเรื่อง ”ธุรกิจการท่องเที่ยวญี่ปุ่น

            คงไม่มีใครปฏิเสธว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทย ยิ่งในช่วงหลังที่ญี่ปุ่นยอมอนุโลมให้ชาวไทยสามารถไปเที่ยวได้แบบฟรีวีซ่า 15 วัน ทำให้มีชาวไทยหลั่งไหลไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากทุกปี

            การทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลายเป็นนวัตกรรมทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น จึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษาเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งวิธีแรกที่ญี่ปุ่นใช้พัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวของตัวเองคือ “การสร้างอัตลักษณ์” ของแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ กล่าวคือนอกจากจะมีนิสัยรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของตัวเองทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ชาวญี่ปุ่นยังรู้จักพัฒนาอัตลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยวของตัวเองให้มีความเด่นและแตกต่างจากแหล่งท่องเทียวอื่นๆ คือแหล่งท่องเทียวแต่ละแห่งจะมีความเฉพาะตัว มีการสร้างเรื่องราวรองรับและการประชาสัมพันธ์ให้เกิดเป็นภาพจำสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ถ้าเป็นจังหวัด Hokkaido นักท่องเที่ยวก็จะรู้ทันทีว่า ฤดูหนาวมีหิมะ ส่วนฤดูร้อนมีทุ่งลาเวนเดอร์ ถ้าเป็นจังหวัด Okinawa ก็ต้องไปฤดูร้อนเพราะทะเลสวย ถ้าเป็นจังหวัด Kyoto ก็ต้องเที่ยววัดญี่ปุ่นเก่า ๆ มากมายและโบราณสถานสวย ๆ ซึ่งการสร้างอัตลักษณ์แบบนี้ แต่ละแหล่งท่องเที่ยวจะพยายามไม่ซ้ำกัน เพื่อไม่ให้เกิดสภาพ Me-too Marketing แบบใครมีอะไรฉันก็ต้องมีบ้าง แต่ญี่ปุ่นจะพยายามให้สถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งมีอะไรแตกต่างกันไป จนน่าไปให้ครบทุกแห่ง เพราะไม่ซ้ำกัน ไม่แย่งลูกค้ากันเอง

                อีกเทคนิคหนึ่ง คือการใช้มาสค็อต จะสังเกตได้ว่าญี่ปุ่นเป็นประเทศแห่งการ์ตูน (ตามที่เคยเขียนไปแล้วเรื่อง การ์ตูนและอนิเมชันของญี่ปุ่น) จึงมีการใช้มาสค็อตจำนวนมาก และออกแบบให้เป็นมาสค็อตประจำแหล่งท่องเทียวแต่ละแห่ง เพื่อเป็นทูตการท่องเทียว และเป็นสินค้าที่ระลึกในรูปแบบต่าง ๆ อีกด้วย

            นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ คือทุก ๆ สถานีรถไฟฟ้าใหญ่ ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว จะมีศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว มีทั้งแผนที่รถไฟฟ้า และบริการให้คำปรึกษาเรื่องวางแผนการเดินทาง อย่างมีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือเหล่านี้สามารถพูดได้หลายภาษา ช่วยให้นักท่องเทียวไม่รุ้สึกหลงทางเคว้งคว้างในประเทศญี่ปุ่น

            พร้อมกันนี้ แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งยังมีการจัดเป็น “คอร์ส” ด้วย ว่าชอบเดินประมาณไหน เช่น คอร์ส A จะมีดอกไม้ให้ชมวิวเยอะ ส่วนคอร์ส B จะได้ผ่านตึกเก่า ๆ โบราณมากหน่อย ส่วนคอร์ส C จะบรรยากาศหวานๆ เหมาะกับคู่รัก เป็นต้น กล่าวคือในแหล่งท่องเทียวเดียวกันหลายแห่งมีการแบ่งคอร์สการเดินเทียวไว้ในลักษณะนี้ตามหนังสือท่องเทียวญี่ปุ่น ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ง่ายต่อการเดินเที่ยว ไม่ค่อยหลงทาง นักท่องเที่ยวจึงเที่ยวได้อย่างสบายใจ ประกอบกับญี่ปุ่นไม่ค่อยมีแก๊งค์หลอกลวงนักท่องเที่ยวต่างชาติ เนื่องจากกฎหมายเข้มงวด ไม่สามารถทำมาหากินโดยการหลอกนักท่องเทียวได้

             เทคโนโลยีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ญี่ปุ่นใช้ช่วยพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยว คือแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบางแห่ง รวมทั้งสนามบิน มีการนำ QR Translator มาให้บริการนักท่องเทียวด้วย ถึงอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก แค่สแกนก็ได้ข้อมูลเป็นภาษาตัวเอง อ่านเข้าใจ ไร้กังวล สแกนได้ทั้งวิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ท่องเที่ยว, สแกนประวัติศาสตร์ของสถานที่นั้น, หรือสแกนแผนที่ของแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ ฯลฯ ได้หลายรูปแบบมาก แม้จะไม่ใช่ทุกที่ที่มีระบบ QR นี้ แต่ในอนาคตก็จะแพร่หลายมากขึ้นอย่างแน่นอน

             สิ่งเหล่านี้คือแนวคิดเรื่องนวัตกรรมทางวัฒนธรรมที่ญี่ปุ่นนำมาใช้ในการพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวของตัวเอง ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังที่นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกนิยมไปกัน

ขอบคุณบทความ วีรยุทธ พจน์เสถียรกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรธุรกิจระหว่างประเทศ อาจารย์สมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในพระบรมราชูปถัมภ์ ล่าม และวิทยากรหลายสถาบัน